ความเป็นมา
๑. ภารกิจหน้าที่
ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๔๕ ตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทยที่ต้องการให้เป็นกลไกที่จะช่วยให้นโยบายบ้านเมืองน่าอยู่ เชิดชูคุณธรรม บังเกิดผล ขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะบทบาทในการแก้ไขปัญหาการร้องทุกข์ร้องเรียนของประชาชนที่ได้รับ ความเดือดร้อนที่ร้องทุกข์ร้องเรียน โดยศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนราธิวาส สำนักงานจังหวัดนราธิวาส มีหน้าที่ให้บริการประชาชนในการรับเรื่องร้องทุกข์/ร้องเรียน และแจ้งส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนตามข้อร้องทุกข์/ร้องเรียนของประชาชน ตลอดจนข้อเสนอแนะ การแจ้งข้อมูลเบาะแสที่เกี่ยวกับการทุจริตประพฤติมิชอบ เพื่อแจ้งส่วนราชการให้ปฏิบัติราชการโดยยึดหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและสังคมส่วนรวม และเกิดความคุ้มค่าแห่งภารกิจของรัฐ
๒. การจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนราธิวาส และการบริหารจัดการเรื่องราวร้องทุกข์
ตามที่จังหวัดนราธิวาส ได้มีคำสั่งที่ ๓๘๑๓/ ๒๕๕๖ ลงวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๖ จัดตั้งศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนราธิวาส และแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนราธิวาส เพื่อรับผิดชอบในการบริหารจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ระดับจังหวัด นั้น
เนื่องจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๙๖/๒๕๕๗ ณ วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๗ เรื่อง การจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานระดับจังหวัดและให้การปฏิบัติงานของส่วนราชการในจังหวัดสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างเสมอภาค มีคุณภาพ รวดเร็ว ลดขั้นตอนการปฏิบัติงานและประชาชนได้รับความพึงพอใจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีประกาศให้จังหวัดจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรมขึ้นในจังหวัดเพื่อทำหน้าที่ในการรับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร ให้คำปรึกษา รับเรื่องปัญหาความต้องการและข้อเสนอแนะของประชาชน และทำหน้าที่เป็นศูนย์บริการร่วมตามมาตรา ๓๒ แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. ๒๕๔๖ โดยจัดตั้งขึ้น ณ ศาลากลางจังหวัดหรือสถานที่อื่นตามที่เห็นสมควร และประกาศให้ประชาชนทราบโดยทั่วกัน
ดังนั้น เพื่อให้การบริหารจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ของจังหวัดนราธิวาสเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามมาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.๒๕๓๔ และแก้ไขเพิ่มเติม ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ พ.ศ.๒๕๕๒ ประกอบกับประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๙๖/๒๕๕๗ ณ วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๗ จังหวัดนราธิวาสจึงมีคำสั่งจังหวัดนราธิวาส ที่ ๒๐๕๒/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ดังนี้
๑. จัดตั้งศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนราธิวาส เพื่อเป็นศูนย์ในการรับเรื่องราวร้องทุกข์และบริหารจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ ประสานและกำกับการดำเนินงานของศูนย์ดำรงธรรมอำเภอและศูนย์ดำรงธรรมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้น
๒. ให้ทุกอำเภอจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ ประจำอำเภอโดยบูรณาการระหว่าง ศูนย์ปฏิบัติการอำเภอกับศูนย์อำนวยความเป็นธรรม และมอบหมายส่วนราชการประจำอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จัดตั้งศูนย์ในการให้บริการประชาชนแบบครบวงจรและกำกับการดำเนินงานของศูนย์ดำรงธรรมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้น ยกเว้นศูนย์ดำรงธรรมองค์การบริหารส่วนจังหวัดนราธิวาสและศูนย์ดำรงธรรมเทศบาลเมืองให้อยู่ในกำกับของศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนราธิวาส
๓. ให้ทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จัดตั้งศูนย์ดำรงธรรมองค์การบริหารส่วนจังหวัดศูนย์ดำรงธรรมเทศบาลและศูนย์ดำรงธรรมองค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อเป็นศูนย์ในการรับเรื่องราวร้องทุกข์และให้บริการประชาชน และเป็นเครือข่ายของศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดและศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ
๔. แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนราธิวาสและสำนักงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนราธิวาส โดยมอบหมายหน้าที่ให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ดังนี้
ก. ที่ปรึกษา ประกอบด้วย
๑.อัยการจังหวัดนราธิวาส
๒.อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนราธิวาส
๓.อัยการจัดคุ้มครองสิทธิและบังคับคดีและช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายจังหวัดนราธิวาส
๔.ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส
๕.ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ ๓ กองพลนาวิกโยธิน
๖.รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดนราธิวาส(ท)
ให้คณะกรรมการที่ปรึกษามีอำนาจหน้าที่ในการให้คำปรึกษาและเสนอแนะนำการดำเนินงานต่างๆ
ข. คณะกรรมการบริหารศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนราธิวาส ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ประธาน หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการและปลัดจังหวัดนราธิวาส หัวหน้าสำนักงานจังหวัดนราธิวาส และท้องถิ่นจังหวัดกรรมการและเลขานุการร่วม โดยมีหน้าที่ ดังนี้
(๑.)กำหนดนโยบายในการบริหารจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ระดับจังหวัด ให้สามารถสนองตอบต่อการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่
(๒) เสนอแนะแนวทางในการปรับปรุงและการพัฒนาการให้บริการประชาชน โดยมุ่งเน้น
การเพิ่มประสิทธิภาพ การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว และเกิดความ พึงพอใจของประชาชนผู้เดือนร้อน
(๓) พิจารณาให้การสนับสนุนการดำเนินการของศูนย์ดำรงธรรมทั้งด้าน งบประมาณ วัสดุ อุปกรณ์ และบุคลากร ให้สามารถบริการแก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพตอบสนองความต้องการ
ของประชาชนได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง รวมทั้งบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานของศูนย์ดำรงธรรม และการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ผ่านคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ เพื่อเสนอสำนักงบประมาณ
(๔) อื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนดและกระทรวงมหาดไทยหรือประธาน คณะกรรมการบริหารศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดมอบหมาย
ค.แบ่งโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนราธิวาส ดังนี้
๑. ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เป็นผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนราธิวาส
๒. หัวหน้าสำนักงานจังหวัดนราธิวาสเป็นหัวหน้าสำนักงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด มีหน้าที่รับผิดชอบในด้านธุรการ สนับสนุนการปฏิบัติภารกิจของศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดในการรวบรวมข้อมูล และอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการบริหารศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดมอบหมาย
๓. แบ่งโครงสร้างศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนราธิวาส จำนวน ๔ ส่วน ดังนี้
๓.๑ .ส่วนรับเรื่องราวร้องทุกข์ โดยหัวหน้าสำนักงานจังหวัดนราธิวาสหัวหน้าส่วน และหัวหน้ากลุ่มงานอำนวยการ เลขานุการ มีหน้าที่ ดังนี้
(๑) รับเรื่องราวร้องทุกข์ร้องเรียน ให้คำปรึกษา รับเรื่องปัญหาความต้องการของประชาชนในพื้นที่
(๒) ประสานส่วนราชการหน่วยงานในการตรวจสอบ และแก้ไขปัญหา รวมทั้งติดตามตรวจสอบประเมินผลการได้รับความช่วยเหลือ
(๓). รวบรวมข้อมูลเรื่องร้องเรียนและรายงานอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
๓.๒ ส่วนบริการข้อมูลข่าวสารและประชาสัมพันธ์ โดยมีสถิติจังหวัดนราธิวาส หัวหน้าส่วน หัวหน้ากลุ่มงานข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสาร สนจ.นธ. เลขานุการ และมีหน้าที่ ดังนี้
(๑) จัดหาข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นและเพิ่มช่องทางให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างสะดวก รวดเร็ว
(๒) การจัดสถานที่ให้ประชาชนสามารถเข้ารับบริการข้อมูลข่าวสารภาครัฐและ
ประกาศให้ประชาชนทราบ
(๓) ประชาสัมพันธ์ช่องทางการรับเรื่องราวร้องทุกข์ให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบและผลงานการแก้ไขปัญหาข้อร้องทุกข์ร้องเรียน
๔.อื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
๓.๓ ส่วนงานบริการประชาชน โดยปลัดจังหวัดนราธิวาสเป็น หัวหน้าส่วน และ จ่าจังหวัดนราธิวาส ที่ทำการปกครองจังหวัดนราธิวาส เลขานุการ มีหน้าที่ดังนี้
(๑)จัดตั้งศูนย์ให้บริการประชาชน เพื่อให้บริการประชาชน โดยจัดตั้งศูนย์บริการร่วม
ตามนัยมาตรา ๓๒ แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.๒๕๔๖ แบ่งภารกิจในการให้บริการออกเป็นฝ่ายรับบริการแบบเบ็ดเสร็จและฝ่ายให้บริการรับเรื่องส่งต่อ
(๒) ฝ่ายรับบริการแบบเบ็ดเสร็จ มีหน้าที่ บริการประชาชนให้แล้วเสร็จในที่แห่งเดียว
(๓) ฝ่ายให้บริการรับเรื่องส่งต่อให้มีหน้าที่ บริการรับเรื่องจากประชาชน เพื่อส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการให้แล้วเสร็จ
(๔) ติดตามประเมินผลการให้บริการประชาชน ให้สามารถสนองตอบต่อการให้บริการประชาชน
(๕) อื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
๓.๔ ส่วนปฏิบัติการหน่วยเคลื่อนที่เร็ว โดยมีปลัดจังหวัดนราธิวาสเป็นหัวหน้าส่วน และหัวหน้ากลุ่มงานความมั่นคง ที่ทำการปกครองจังหวัดนราธิวาส เลขานุการ มีหน้าที่ ในการตรวจสอบ ติดตาม หาข้อมูล แก้ไขปัญหาและให้ความช่วยเหลือในเรื่องสำคัญเร่งด่วน พร้อมรายงานผลให้ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด และอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
๔. ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ มอบหมายนายอำเภอทุกอำเภอเป็นหัวหน้าศูนย์ และจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรมตามกรอบภารกิจที่เกี่ยวข้อง ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือสถานที่อื่นตามที่เห็นสมควร โดยหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน/ร้องทุกข์ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร ให้คำปรึกษา รับเรื่องปัญหาความต้องการ และข้อเสนอแนะของประชาชน และทำหน้าที่เป็นศูนย์บริการร่วมตามมาตรา ๓๒ แห่ง พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. ๒๕๔๖ และกำกับดูแลการปฏิบัติการดำเนินการของศูนย์ดำรงธรรมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยกเว้นศูนย์ดำรงธรรมองค์การบริหารส่วนจังหวัดนราธิวาสและศูนย์ดำรงธรรมเทศบาลเมือง
๕. ศูนย์ดำรงธรรมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มอบหมายให้ผู้บริหารท้องถิ่นทุกองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหัวหน้าศูนย์ และจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรมตามกรอบภารกิจที่เกี่ยวข้อง ณ สำนักงานหรือที่ตั้ง โดยทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน/ร้องทุกข์ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร ให้คำปรึกษา รับเรื่องปัญหาความต้องการ และข้อเสนอแนะของประชาชน และเป็นเครือข่ายของศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดและศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ